การขนส่งสินค้าข้ามแดน รับมือการค้าเสรีอาเซียน

“ยุทธศาสตร์การบริหารการขนส่งสินค้าข้ามแดน รับมือการค้าเสรีอาเซียน” ให้สมาชิกได้ทราบทั่วกันก่อนว่า มีปัญหาอะไร ที่ทุกภาคส่วนต้องคอยรับมือกับการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้น และร่วมด้วยช่วยกันทำให้ไทยเป็นฮับอาเซียน

แน่นอนว่า นโยบายเปิดประเทศด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านทางการค้าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) หนึ่งในสามเสาหลัก คือ AEC ซึ่งกำหนดกรอบความตกลงอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนต่างๆ ทำให้ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สร้างประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านแดนและการใช้เส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านประเทศไทย

คณะทำงานเกี่ยวเนื่องการบริการ การขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยจากคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มี คุณบุณยสิทธิ์ กาญจนวงศ์ชัย เป็นประธานฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานตามด่านชายแดนต่างๆ ของประเทศไทย ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปลายปี 2555 เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียเพื่อเตรียมการรับมือการค้าเสรีอาเซียน ปี 2558 เพื่อหาแนวทางแก้ไขและปรับปรุง

และทำการศึกษา พบว่า แนวโน้มการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัญหาหลัก คือ 1.ปัญหาด้านการบริหารจัดการงานบริการ 2.ปัญหาด้านการบริหารจัดการส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งปัญหาด้านการบริหารจัดการงานบริการนั้น เกิดจากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับอาคารพร้อมทั้งขาดการบูรณาการ การบริหารจัดการชายแดน และส่งสินค้าข้ามแดนภายในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไม่มีหน่วยงานหลักที่มีอำนาจบริหารจัดการเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการพัฒนาพื้นที่ การบริหารจัดการแบบองค์รวมความไม่พร้อมในการรองรับการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ ด้านถนน ระบบรางรถไฟ สะพาน ระบบสาธารณูปโภค

รวมทั้งปัญหากฎระเบียบ แนวปฏิบัติต่างๆ ที่เคยทำข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้เกิดการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ที่ยังไม่แล้วเสร็จและปัญหากระบวนการขนส่งสินค้าผ่านประเทศลาวและเวียดนามสู่ประเทศจีน เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าข้ามแดนเพื่อการค้าระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันในกลุ่ม AEC